Welcome to a character in literature.

วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

ตัวพระในวรรณคดี - พระอภัยมณี

 พระอภัยมณี 



พระอภัยมณีเป็นตัวละครที่แปลกไปจากพระเอกในเรื่องอื่นๆ
ของวรรณคดีไทย คือ ไม่มีฝีมือในการใช้อาวุธและไม่มีความรู้ทางเวทมนต์คาถา แถมยังขี้ขลาดอีกด้วย
แม้ว่ารูปร่างลักษณะ และบุคลิกทั่วๆ ไปจะเหมือนพระเอกอื่นๆ คือ รูปงาม บอบบาง เจ้าชู้ และเป็นคนดีก็ตาม
ความสามารถ ของพระอภัยมณีมีอยู่อย่างเดียวคือเป่าปี่ สันนิษฐานกันว่าสุนทรภู่เอาแบบมาจาก เตียวเหลียง
ในพงศาวดารจีนเรื่องไซ่ฮั่น เมื่อพระอภัยมณีและศรีสุวรรณ สองพี่น้องไปขอเรียนวิชาจากอาจารย์ทิศาปาโมกข์
นั้น พระอภัยมณีอายุ 15 ปี ได้ตัดสินใจเลือกเรียนวิชาเป่าปี่
พระเชษฐาว่าจริงแล้วเจ้าพี่วิชามีแล้วใครไม่ข่มเหง
แต่ใจพี่นี้รักทางนักเลงหมายว่าเพลงดนตรีนี้ดีจริง
ถึงการเล่นเป็นที่ประโลมโลกได้ดับโศกสุญหายทั้งชายหญิง
         นี่เป็นความคิดเห็นเรื่องดนตรีของพระอภัยมณี ซึ่งอาจารย์ได้ขยายความถึงอานุภาพของ เพลงปี่อีกว่า
ถ้าแม้ว่าข้าศึกมันโจมจับจะรบรับสารพัดให้ขัดสน
เอาปี่เป่าเล้าโลมน้ำใจคนด้วยเล่ห์กลโลกาห้าประการ
คือรูปรสกลิ่นเสียงเคียงสัมผัสเกิดกำหนัดลุ่มหลงในสงสาร
ให้ใจอ่อนนอนหลับดังวายปราณจึงคิดอ่านเอาชัยเหมือนใจจง
         กระนั้นก็ตาม คุณประโยชน์ของดนตรียังเป็นที่คลางแคลงแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับพระอภัยมณี
อยู่มา ท้าวสุทัศน์เองก็เห็นเพียงว่า
อันดนตรีปี่พาทย์ตะโพนเพลงเป็นนักเลงเหล่าโลนเล่นโขนหนัง
แต่พวกกูผู้หญิงที่ในวังมันก็ยังเรียนร่ำได้ชำนาญ
         พระอภัยมณีและศรีสุวรรณก็เลยถูกขับออกจากเมืองและเริ่มการผจญภัยตั้งแต่นั้น ความสามารถ
ในเชิงปี่ของพระอภัยมณีได้แสดงให้พราหมณ์หนุ่ม โนรา สานน และวิเชียร ซึ่งขอชมเป็นครั้งแรก เพลงปี่
ตอนนี้มีความไพเราะในลีลาน้ำคำคล้ายเสียงดนตรี มีเนื้อความว่า
ในเพลงปี่ว่าสามพราหมณ์เอ๋ยยังไม่เคยชมชิดพิสมัย
ถึงร้อยบุปผาสุมาลัยจะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย
พระจันทร์จรสว่างกลางโพยมไม่เทียบโฉมนางงามพี่พราหมณ์เอ๋ย
แม้นได้แก้วแล้วจะค่อยประคองเคยถนอมเชยชมโฉมประโลมลาน
         พราหมณ์ทั้งสามและศรีสุวรรณได้ฟังก็เคลิ้มหลับไป พระอภัยมณีจึงถูกผีเสื้อยักษ์ลักพาไปเป็น
สามีเพราะนางเห็นว่า "ทั้งทรวดทรงองค์เอวก็อ้อนแอ้น เป็นหนุ่มแน่นน่าชมประสมสอง" เพลงปี่ทำให้
พระอภัยมณีมีชายาเป็นครั้งแรกเมื่ออายุยังไม่เต็มสิบหกปี และอยู่กินด้วยกันจน สินสมุทร บุตรชายอายุได้
แปดปี จึงได้พากันหนีจากนางผีเสื้อผจญภัยต่อไป แต่ถึงแม้พระอภัยมณีจะมีชายหลายคนจนได้ชื่อว่าเจ้าชู้
ก็มิได้ประพฤติผิดประเพณีเหมือน พระเอกวรรณคดีอื่นๆ บางเรื่อง พระอภัยมณีได้นางผีเสื้อเพราะ
จำยอม ได้นางเงือกเพราะความกตัญญู และสงสาร ได้นางวาลีเพราะนางถวายตัว ได้นางสุวรรณมาลี
ก็โดยอภิเษกสมรส หลังจากที่ได้ใช้ความพยายาม อย่างยิ่งยวด นางละเวงก็เช่นเดียวกันพระอภัยมณี
ต้องเอาชีวิตเข้าเสี่ยงเพราะเป็นความรักระหว่างรบ และต้องอาศัยคนอื่นช่วยเหลือ พระอภัยมณีไม่เคย
เกี้ยวผู้หญิงสำเร็จด้วยตนเองเลย นอกจากกับนางเงือก ความรักของพระอภัยมณีที่มีต่อชายา
ทุกคนนั้นเป็นรักแท้ แม้กับผีเสื้อยักษ์ซึ่งถูกข่มขืนให้จำยอม แต่ผีเสื้อยักษ์ตายไปพระอภัยมณีก็ร้องไห
้จนสลบ เมื่อนางวาลีตายก็เช่นกัน พระอภัยมณีก็อธิษฐานให้ได้ พบกันใหม่ในชาติหน้า
กับนางสุวรรณมาลีและนางละเวงก็ครองคู่อยู่จนไปบวชด้วยกันในบั้นปลาย กับนางเงือกเท่านั้น
ที่ดูห่างเหิน แต่ตอนหลังพระอภัยมณีก็ไปเทศน์โปรดให้ถือศีล
         อุปนิสัยของพระอภัยมณีเป็นคนใจอ่อนและขี้ขลาด เหมาะจะเป็นศิลปินมากกว่ากษัตริย์
ในคำกลอน มักจะมีสร้อยต่อท้ายชื่อแสดงบุคลิกของพระอภัยมณีให้เห็นได้ชัดเจน เช่น
         พระอภัยใจอ่อนถอนสะอื้น..........................
         ฝ่ายองค์พระอภัยวิไลโฉม...........................
         ฝ่ายพระองค์ทรงโฉมประโลมสวาท...............
         สงสารองค์พระอภัยวิไลลักษณ์....................
         สงสารองค์พระอภัยวิไลโลก........................
         องค์พระอภัยมณีศรีโลภา............................ ฯลฯ

ตัวพระในวรรณคดี - อิเหนา

อิเหนา


   อิเหนาหรือระเด่นมนตรี เป็นโอรสของท้าวกุเรปันและประไหมสุหรีนิหลาอระตา แห่งกรุง
กุเรปัน อิเหนาเป็นชายรูปงามมีเสน่ห์
   
 
        เจรจาอ่อนหวาน นิสัยเจ้าชู้    
         มีความเชี่ยวชาญในการใช้กริช    และกระบี่เป็นอาวุธ
 ท้าวกุเรปันได้สู่ขอบุษบาหนึ่งหรัดธิดาของท้าวดาหาเป็นคู่ตุนาหงันของอิเหนาตั้งแต่เด็ก ครั้นอิเหนาโตเป็นหนุ่มได้พบ จินตะหราวาตีและหลงใหลนางมาก จึงปฏิเสธไม่ยอมแต่งงานกับบุษบา แต่พอได้พบกับบุษบาก็หลงรักนาง จนกระทั่งลักพาตัวนางไปขณะที่นางกำลังจะเข้าพิธวิวาห์กับระตูจรกา ทำให้องค์ปะตาระกาหลาโกรธอิเหนาจึงบันดาลให้ลมหอบนางไปเสีย
อิเหนาก็ปลอมตัวเป็นโจรป่าชื่อ มิสารปันหยี ออกติดตามหานางจนทั่วแผ่นดินชวาก็ไม่พบ 
จึงตัดสินใจบวชเป็นฤาษี ใช้ชื่อว่า กัศมาหรา ได้รับความทุกข์ทรมานใจแสนสาหัสกว่าจะได้
พบนางบุษบาอีกครั้ง ภายหลังอิเหนาได้เป็นกษัตริย์ครองเมืองกุเรปันมีมเหสีถึง ๑๐ องค์

ลักษณะนิสัย
            ๑. มีความรู้สึกรุนแรงในความรัก เมื่อได้พบนางจินตะหรา มีรูปร่างสวยงามก็คลั่งไคล้หลงใหลจนไม่ยอมเข้าพิธีอภิเษกกับนางบุษบาคู่หมั้น โดยมิฟังคำเตือนของท้าวกุเราปันบิดา 
ต่อมาได้นางสกาวะราตีและนางมาหยารัศมีก็มีความรักใคร่ผูกพันธ์นางทั้ง ๒ เป็นอันมาก 
ก่อนจากไปเมืองดาหาได้ฝากทั้ง ๒ ไว้กับนางจินตหรา ระหว่างที่เคลื่อนทัพไปยังเมืองดาหา
ก็คร่ำครวญถึงนางทั้ง ๓ ตลอดทาง 
            ๒. มีความเคารพยำเกรงบิดา เมื่อท้าวกุเรปันมีราชสาส์นสั่งให้นำทัพไปช่วยท้าวดาหา ถ้าไม่ไปจะตัดพ่อลูก อิเหนาก็ตกลงไปเกรงกลัวท้าวกุเรปันดดยขอผัดไป ๗  วันล่วงแล้ว 
แต่ในที่สุดก็ยอมเคลื่อนทัพในวันรุ่งขึ้น 
            ๓. เห็นแก่ชื่อเสียงของวงศ์อสัญหวา การที่อิเหนายอมยกทัพไปช่วยเมืองดาหา 
นอกจากเกรงและเคารพแล้ว อิเหนามีความเห็นแก่ชื่อเสียงของวงศ์อสัญหวาด้วย 
            ๔. มีความสำนึกในความผิด  เมื่ออิเหนายกทัพถึงเมืองดาหา  ท้าวดาหาก็เชิญให้
นำไพร่พลเข้ามาในเมือง อิเหนาสำนึกในความผิดไม่ขอรับพระกรุณษ อาสาทำศึกเพื่อไถ่โทษแล้วจะเข้ามาเฝ้าถวายความเคารพภายหลัง 
            ๕. มีความรอบคอบไม่ประมาท อิเหนาเห็นว่าสังคามาระตาชำนาญการรบด้วยทวนมากกว่ากระบี่จึงเตือนให้ต่อสู้กับวิหยาสะกำด้วยทวนอย่าใช้กระบี่เป็นอันขาด ผลสุดท้ายก็ชนะ 
            ๖. มีความเมตตากรุณาให้อภัยโทษแก่ศัตรูที่ยอมสวามิภักดิ์  เมื่อระตูประหมันและ
ระตูปาหยังขอนอบน้อมยอมเป็นข้า อิเหนาก็ไว้ชีวิต และอนุญาติให้นำศพท้าวกะหมังกุหนิง
และวิหยาสะกำไปประกอบพิธีในเมือง

ตัวพระในวรรณคดี - ขุนแผน

ขุนแผน






ขุนแผน เดิมชื่อพลายแก้ว มีรูปร่างหน้าตางดงามคมสัน สติปัญญาเฉลียวฉลาด นิสัยเจ้าชู้ มีดาบฟ้าฟื้นเป็นอาวุธประจำตัว พาหนะคู่ใจคือ ม้าสีหมอก พ่อเป็นทหารชื่อ ขุนไกรพลพ่าย แม่ชื่อ นางทองประศรี ได้บวชเณรและเรียนวิชาที่วัดส้มใหญ่ แล้วย้ายไปเรียนต่อที่วัดป่าเลไลย สุดท้ายไปเป็นศิษย์สมภารคง วัดแค จนมีความรู้ทางโหราศาสตร์ ปลุกผี อยู่ยงคงกระพัน คาถามหาละลวยทำให้ผู้หญิงรัก ตลอดจนวิชาจากตำรับพิชัยสงคราม และยังมีความสามารถเทศ์ได้ไพเราะจับใจอีกด้วย ต่อมาสึกจากเณรแล้วแต่งงานกับนางพิมพิลาไลย ไม่นานก็ถูกเรียกตัวไปเป็นแม่ทัพรบกับเชียงใหม่ ครั้นได้ชนะกลับมาก็ได้เป็นขุนแผนแสนสะท้าน แต่ปรากฏว่าภรรยาแต่งงานใหม่แล้ว ขุนแผนต้องโทษถูกจำคุกถึง ๑๕ ปี จึงพ้นโทษ และทำสงครามกับเชียงใหม่อีกครั้ง เมื่อชนะกลับมาก็ได้ตำแหน่งเป็นพระสุริทรฤาไชย เจ้าเมืองกาญจนบุรี

วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

ตัวพระในวรรณคดี - พระราม

พระราม
 

         พระราม คือ พระนารายณ์อวตาร (แบ่งภาค) ลงมา  ถือกำเนิดเป็นพระราชโอรสของท้าวทศรถ กับ นางเกาสุริยา เพื่อจะปราบทศกัณฐ์  พระรามมีพระอนุชาต่างพระมารดา ๓ พระองค์ คือ พระพรต พระลักษมณ์ และพระสัตรุต ซึ่งต่างก็มีความรักใคร่กันอย่างมาก  พระมเหสีของพระราม คือ นางสีดา
        พระรามมีกายสีเขียว สามารถปรากฏร่างเป็นพระนารายณ์มีสี่กรได้  อาวุธประจำพระองค์ คือ ศร ซึ่งเป็นอาวุธวิเศษ ที่ได้ประทานมาจากพระอิศวร
        บทบาทที่สำคัญในเรื่องรามเกียรติ์  ได้แก่
       -  เมื่อเยาว์วัยพระรามได้รับการศึกษาศิลปศาสตร์ กับสำนักฤาษีสวามิตร หรือวิศวามิตร มีความเก่งกล้า ถึงกับฆ่ากากนาสูร และสวาหุ ซึ่งมารบกวนเหล่าฤาษีชีไพร
       -  ท้าวชนกจักรวรรดิ์(ฤาษีชนก) ได้ให้หมู่กษัตริย์มาประลองยกศรรัตนธนู เพื่ออภิเษกกับนางสีดา พระรามก็สามารถยกรัตนธนูได้สำเร็จ  และได้อภิเษกกับนางสีดา  ระหว่างเดินทางกลับกรุงอโยธยา สามารถปราบรามสูร(ยักษ์ผู้ถือขวาน) และได้รับศรจากรามสูร
       -  ได้ฆ่าพระยาขร และพระยาทูษณ์ พี่ชายของนางสำมนักขา
       -  ระหว่างออกเดินป่า ได้ปราบพิราบยักษ์
       -  ได้ช่วยสุครีพปราบพาลี 
       -  ไปรบกับทศกัณฐ์ และได้ฆ่าทศกัณฐ์ได้สำเร็จ
       -  สถาปนาพิเภกให้ครองกรุงลงกา

ตัวพระในวรรณคดี - ทศกันฐ์

ทศกัณฐ์

 
         ทศกัณฐ์ เป็นกษัตริย์แห่งกรุงลงกา   นับว่าเป็นตัวเอกของเรื่องรามเกียรติ์  มีกายสีเขียว มี ๑๐ พักตร์ ๒๐ กร ทรงมงกุฏชัย ลักษณะปากแสยะ ตาโพลง  ดังโคลงที่กล่าวว่า
                   "ทศกัณฐ์สิบพักตร์ขึ้น เศียรตรี 
                   ทรงมงกุฏชัยเขียวสี อาตม์ไท้
                   กรยี่สิบพรศุลี ประสาทฤทธิ์ ยิ่งนา  
                   ถอดจิตจากตนได้ ปิ่นด้าว ลงกา"
         ทศกัณฐ์ เดิมเป็นยักษ์นนทกกลับชาติมาเกิด เพื่อรบกับพระนารายณ์ ซึ่งอวตารมาเกิดเป็นมนุษย์ ไม่มีใครฆ่าให้ตายได้ เพราะทศกัณฐ์ถอดดวงใจใส่กล่อง ฝากไว้กับพระฤาษีโบุตรผู้เป็นอาจารย์  ทศกัณฐ์มีนิสัยเจ้าชู้ มีชายาและนางสนมมากมาย  แต่ถึงกระนั้นเมื่อรู้ว่านางสีดาเป็นหญิงที่มีความงดงามมาก  แม้นางจะมีพระสวามีอยู่แล้ว ก็ยังลักพาตัวไป  จึงเป็นสาเหตุให้ต้องทำศึกกับพระราม จนญาติมิตรล้มตายไปเป็นจำนวนมาก  และในที่สุดตนเองก็ถูกพระรามฆ่าตาย